เงินบำนาญกับข้าราชการเกษียณ

อาชีพสุดท้ายในชีวิตของทุก ๆ คนคือ “ผู้จัดการกองทุน”

คุณแม่ของผมเกษียณอายุราชการเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยอาชีพ ข้าราชการครูวัย 60 ปี มีอายุราชการรวม 42 ปี ช่วงหลัง ๆ ก่อนที่แม่ผมจะเกษียณ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมคุยกับคุณแม่บ่อย ๆ ก็คือ เงินบําเหน็จ และเงินบำนาญ คุยถึงเรื่องนี้ทีไร ผมก็จะเอา Excel ขึ้นมากดเป็นกระดานชนวนตลอด เพราะมันทำให้ผมเห็นว่าคุณแม่ของผมจะมีเงินใช้ไปจนบั้นปลายของชีวิตเท่าไหร่

และตัวเลขสุดท้ายที่คุณแม่ของผมใช้เวลากว่า 42 ปีในการสร้างนั้น เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว (หลายหมื่นบาท) เพียงพอที่จะอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดได้อย่างสบาย

ผมเคยถามท่านว่า เกษียณแล้วจะทำอะไร เพราะผมเองยังมีคำถามว่า เราไม่ต้องทำงานได้ด้วยหรือ? คำตอบคือ คงไม่ทำอะไร อยู่บ้าน ปลูกผัก ไปเรื่อย ๆ อยากไปไหนก็ไป อยากตื่นนอนกี่โมงก็ได้ ได้ยินแบบนี้ผมนี่กระจ่างถึงคำว่าเกษียณมากขึ้นเลยทีเดียว

ชีวิตดูดีใช่ไหมล่ะ แต่อย่าลืมนะครับว่าท่าน “ใช้เวลาในการสร้างถึง 42 ปี ในระบบราชการ” เห็นอะไรไหมครับ มีองค์ประกอบอยู่ 2 อย่าง นั่นก็คือ “เวลา” และ “ระบบ”

เวลา คือสิ่งที่เราทุกคนมีเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่าเรารู้ตัวตั้งแต่ตอนไหน ในที่นี้ถ้าคุณแม่ของผมเกษียณตอนอายุ 60 ปี

60 - 42 = 18 ปัดเศษขึ้นเป็น 19 ปี

นั่นหมายความว่าท่านเริ่มใช้งานระบบนี้ตั้งแต่อายุ 19 ปี ลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่าตอนนี้เราอายุเท่าไหร่ ฮ่าๆ

ต่อมาเป็นเรื่องของ “ระบบ” รู้กันว่า ข้าราชการ นั้นเป็นอาชีพที่เงินเดือนน้อย เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ในช่วงอายุเดียวกัน คุณแม่ของผมท่านเริ่มต้นด้วยเงินเดือน 1,375 บาท ต่อเดือนเท่านั้น

ดังนั้นตลอดระยะเวลาตั้งแต่อายุ 19 ปี จนถึง 60 ปีนั้น ช่วงแรก ๆ ท่านคงไม่สามารถทำอะไรได้อิสระมากนัก เนื่องจากรายได้น้อย แต่ด้วย ระบบ ที่รัฐออกแบบมา เขามองที่ระยะยาว มากกว่าระยะสั้น เงินเดือนจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามเวลา และถ้าเราไม่ได้ทำผิดวินัย เราก็จะไม่ถูกให้ออกจากราชการนั่นเอง ดังนั้น ความมั่นคง จึงเป็นคำอธิบายอาชีพข้าราชการมาอย่างยาวนาน

ลองคิดเล่น ๆ สมมติว่าคุณแม่ของผม ท่านได้รับเงินบำนาญ ทั้งหมดเป็นเงิน 50,000 บาทต่อเดือน (ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขสมมติที่มีเค้าความจริง ถ้าใครมีคุณแม่ที่เกษียณแล้ว ลองถามท่านดูนะครับ ว่าท่านมีเงินบำนาญเดือนละเท่าไหร่)

อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี

เนื่องจากคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 75 ปี ผมขอตีเผื่อไปเป็นตัวเลขกลม ๆ คือ 80 ปี จะได้ตามสูตรนี้

(อายุขัย - อายุเกษียณ) x เงินบำนาญ x 12 เดือน = เงินเก็บ

แทนค่าสูตร

(80 - 60) x 50,000 x 12 เดือน = 12,000,000 บาท

12,000,000 คือเงินที่รัฐจะต้องเก็บไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินบำนาญของคุณแม่ผม แต่เพราะว่าเงินจำนวนนี้มันมากเกินไป รัฐเลยสร้างระบบขึ้นมาเพื่อทำการเก็บเงินไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ คิดกลม ๆ คือ

(จำนวนเงินที่ต้องเก็บ / จำนวนปีที่เก็บ) = เงินเก็บต่อปี

เงินเก็บต่อปี / 12 = เงินเก็บต่อเดือน

ลองแทนค่าดูนะครับ

(12,000,000 / 42 (อายุราชการ)) = 285,714

285,714 / 12 = 23,809 บาท

รัฐจะต้องเก็บเงินต่อเดือนถึง 23,809 บาท เพื่อนำไปเลี้ยงดูข้าราชการเกษียณ 1 คน แต่ ระยะเวลา 42 ปีมันเป็นระยะเวลาที่นานดังนั้น รัฐจะต้องหาวิธีในการลงทุนต่าง ๆ เพื่อลดจำนวนเงินต้นที่ต้องเก็บลง ได้แก่พวกกองทุนต่าง ๆ ที่ตัดเงินอัตโนมัติก่อนจ่ายเงินเดือน ซึ่งเรามาดูกันว่าถ้าสมมติว่ารัฐสร้างระบบโดยการเอาเงินไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี

จะเห็นว่า แทนที่รัฐจะต้องเก็บ 23,809 บาทต่อเดือน หรือ 285,714 บาทต่อปี เหลือเพียงแค่ 7,050 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ว่าใช้เวลา 42 ปีเข้ามาแทน

แต่ก็อย่างว่า ชีวิตไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ในตารางนี้ไม่ได้คิดเรื่องของอัตราเงินเฟ้อไปด้วยเนื่องจากอยากให้เพื่อน ๆ เห็นภาพชัดเจน (คิดแค่อัตราดอกเบี้ยทบต้น) เพราะปกติค่าเงินเมื่อก่อนกับค่าเงินปัจจุบันไม่เท่ากันอยู่แล้ว เหมือนราคาก๋วยเตี๋ยวสมัยก่อนกับปัจจุบันราคาไม่เท่ากัน ดังนั้นข้อมูลนี้เป็นแค่ข้อมูลคร่าว ๆ เท่านั้น

ซึ่งที่เล่ามาข้างบนนี้ นั้นเป็นเรื่องของคุณแม่ของผมกับระบบที่รัฐ (สมมติ) สร้างขึ้นมา ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว ระบบของรัฐคงซับซ้อนกว่านี้เพราะประเทศเรามีคนเก่ง ๆ เยอะ ดังนั้น เรากลับมาที่เรื่องของเราบ้างดีกว่า

พวกเรากำลังอยู่ในวัยทำงาน และคนที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ ก็ทำงานในบริษัทเอกชน ดั้งนั้นเรามาลองสำรวจกันดีกว่าว่า ตอนนี้เรามี เวลา มากแค่ไหน และเรามี ระบบ อะไรที่จะเราจะไปเข้าร่วมไดบ้าง

เรื่องเวลาคงไม่ต้องพูดเยอะ ลองนึกถึงอายุของเพื่อน ๆ หักลบกับอายุที่คาดว่าจะเลิกทำงาน ก็รู้แล้วว่าเราเหลือเวลาเท่าไหร่ ฉะนั้นมาโฟกัสที่เรื่อง ระบบ กันดีกว่าครับ

ภาคเอกชนอย่างเรา ก็มีระบบมากมายให้เราเข้าร่วม มีทั้งภาคสมัครใจ และภาคบังคับ โดยภาคบังคับ เงินที่เอาไปใส่ในระบบจะถูกหักจากรายได้ของเรา ในแต่ละเดือนอยู่แล้ว ซึ่งแนวคิดก็จะเป็นเหมือนกับของราชการคือหักก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง และเท่าที่ผมคิดออกและใกล้ตัวเพื่อน ๆ ที่สุดก็น่าจะเป็น กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (PVD)

หรือว่าจะเป็นภาคสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF กองทุนเปิดอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่มาก มีระดับผลตอบแทนหลากหลายเช่นกัน

แต่ส่วนมาก อนาคตของเราอาจจะไม่สามารถฝากไว้กับแค่ระบบเดียวได้หรอกครับ เพราะยิ่งระบบใหญ่แค่ไหน มันก็จะถูกออกแบบมาให้เข้ากับคนจำนวนมากขึ้น อีกทั้งคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น การศึกษาเรื่องการเงินจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะ ถ้าเราคำนวณแล้ว ระบบที่เราใช้งานมันไม่เพียงพอที่จะถึงเป้าหมายเราได้ เราก็ต้องศึกษาและผสมผสานสร้างมันขึ้นมา

ถึงตรงนี้ลองถามตัวเองดูครับว่า Life Style ที่เราอยากได้ในอนาคตเป็นแบบไหน และนำคำตอบนั้นมาสร้างระบบด้วยตัวเอง อาจจะเป็นระบบที่เรียบง่าย อย่างเช่นตัดเงินทุกเดือนลงกองทุนเป็นประจำ หรือเป็นระบบที่หวือหวา เช่นลงทุนทำธุรกิจ หรือจะใช้ทางเลือกอื่น ๆ ก็แล้วแต่เรา เพราะแต่ละคนมีความสามารถ ความถนัด และเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน

สุดท้ายนี้

เรื่องราวของคุณแม่ของผมเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของแผนการเงินในชีวิต แต่สำคัญที่สุดคือแผนของตัวเราเอง ระยะทาง 30 ปีเป็นระยะที่อาจจะบอกไม่ถูกว่ามันยาวหรือว่าสั้น แต่ที่แน่ ๆ คือ เวลา ไม่ไหลย้อนกลับ

อยากให้เพื่อน ๆ คิดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ ถ้าเพื่อน ๆ คิดจะเสี่ยงก็ต้องมีช่องทางการถอยบ้างนะครับ อาจจะแบ่งเป็นทางธรรมดาที่ชัวร์ และทางมหัศจรรย์โคตรเสี่ยง แล้วเดินไปพร้อม ๆ กันก็ได้ จงจำไว้ครับว่า

อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้ามันแตก มันจะแตกหมด

ขอบคุณที่อ่านจนถึงบรรทัดนี้ ขอบคุณมาก ๆ ครับ

ใช้ “จุดเปลี่ยน” เปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น

“อนาคต คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ ณ​ ปัจจุบัน”

ไทร อมัจจ์ สุวรรณรัตน์

ไม่รู้ว่ามีใครเคยกล่าวไว้รึเปล่า แต่ว่าคำนี้ผมได้ยินจากเพื่อนสนิทของผมคนนี้ มันทำให้ผมคิดย้อนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีต ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่าตลอดชีวิตของเราทุกคน มันจะมีเหตุการณ์ใหญ่ ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เวลาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ชีวิตเรามักจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย แล้วแต่ระดับความรุนแรงของผลกระทบ เช่น

เด็กคนหนึ่ง เมื่อตอนอายุ 10 ปี สัตว์เลี้ยงแสนรักของเขาเสียชีวิต ส่งผลให้เด็กคนนี้เสียใจมาก จนไม่กล้าที่จะเลี้ยงสัตว์อีกครั้ง และผ่านมา 10 ปี เขาก็ยังไม่กล้าที่จะเลี้ยงสัตว์อีกครั้ง เพราะลึก ๆ เขารู้สึกกลัวที่จะต้องเสียใจ

หรือ เมื่อตอนเด็ก ๆ เรารู้สึกว่าครอบครัวของเราใช้ชีวิตลำบากมาก เมื่อโตขึ้นมา เราเลยไม่อยากมีครอบครัวตอนที่ไม่มีความพร้อม

วันหนึ่งเราลุกขึ้นมาวิ่ง เพราะเห็นพี่ตูนวิ่งในทีวีทำให้เรารู้สึกอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น

สังเกตไหมว่า จุดเปลี่ยนเหล่านี้ สามารถเปลี่ยนชีวิตเราได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม ดังนั้น แทนที่เราจะปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เรามาฝึกใช้ประโยชน์จากพลังตรงนี้ เพื่อที่จะสามารถมองเห็นจุดเปลี่ยนบางอย่างในแต่ละวัน ปรับเป็นพลังเพื่อพัฒนาตัวเรา

ผมขอแบ่งจุดเปลี่ยนต่าง ๆ ออกเป็น 3 แบบ เรียงตามลักษณะการเกิด ง่ายไปจนถึงยาก ได้แก่

  1. จุดเปลี่ยนภาคบังคับ

จุดเปลี่ยนประเภทนี้เป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับเราโดยที่ไม่ทันตั้งตัว ถ้าเราใช้ชีวิตไม่ระมัดระวัง เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง และมีขณะที่เกิดเหตุการณ์นี้ มักจะเป็นอะไรที่รุนแรง จนทำให้เราคิดขึ้นได้ว่า ไม่ควรจะทำแบบนั้น เช่น

  • เราทำงานหนักจนวันหนึ่งร่างกายทนไม่ไหว และล้มป่วย
  • เราไม่ออกกำลังกายจนกระทั่งร่างกายทนไม่ไหว และล้มป่วย
  • เราใช้เงินฟุ่มเฟือย จนวันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินฉุกเฉิน
  • ผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ จนจบปีแล้ว ก็ยังไม่ได้ลงมือทำอะไร

จุดเปลี่ยนประเภทนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ถือว่ามีพลังสูงที่สุด คนที่ผ่านสถานการณ์นี้มาได้ ส่วนมากจะสามารถทำเป้าหมายที่ตั้งไว้หลังเหตุการณ์นี้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก อาจจะเพราะรู้สึกเข็ดหลาบ กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

คุณพ่อของผมเคยเล่าไว้ว่า เมื่อตอนเป็นวัยรุ่น พ่อเคยเป็นคนที่ค่อนข้างเกเร กินเหล้า สูบบุหรี่ แต่วันหนึ่งท่านประสบอุบัติเหตุ ทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่หลายเดือน จนทำใจไว้แล้วว่าคงจะไม่รอด แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นว่าอาการดีขึ้น จนกระทั่งกลับมาเดินได้เหมือนเดิม หลังจากนั้นก็รักษาสุขภาพตัวเองตลอดมา ทำตัวเองให้มีความสุข ไม่เครียด

จุดเปลี่ยนชนิดนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ค่อนข้างอันตราย และเกิดกับชีวิตเราบ่อยที่สุด ดังนั้นอย่าให้มาถึงจุดนี้บ่อย คอยสังเกตสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเราให้ดีครับ

  1. จุดเปลี่ยนภายนอก

จุดเปลี่ยนนี้ เป็นจุดเปลี่ยนที่มักจะเกิดขึ้นจากการที่เราเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดสถานการณ์ และมักจะเป็นจุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจาก สถานะการณ์กึ่งบังคับ หรือไม่ก็เกิดจากความไม่ชอบอะไรบางอย่างจากคนรอบข้าง

เหตุการณ์ที่จะทำให้เกิด จุดเปลี่ยนประเภทนี้ มักจะเกิดขึ้นเป็นปกติทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตอบสนองแบบไหนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จุดเปลี่ยนประเภทนี้มีพลังระดับกลาง ๆ และมักจะต้องมีหลักเพื่อยึดเหนี่ยวในช่วงแรก ๆ สิ่งยึดเหนี่ยวสามารถเป็นบุคคล หรือ คำพูดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น

มีคุณพ่อของคนรู้จักหลายคน ก่อนที่จะมีลูก ปกติเค้าจะเป็นคนที่กินเหล้า สูบบุหรี่เป็นปกติ แล้ววันหนึ่ง เค้ามีลูก เค้าเลยตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกกินเหล้า สูบบุหรี่ เพราะไม่อยากจะให้ลูก ได้รับผลกระทบนี้ ผมคิดว่าเป็นอะไรที่กล้าหาญ (ถ้าใครสูบบุหรี่ก็คงจะรู้ว่ามันเลิกยากแค่ไหน)

เมื่อ 2 ปีก่อน ผมเป็นคนที่ค่อนข้างอ้วน หลายครั้งที่พบเพื่อน หรือ ญาติพี่น้อง จะมีการทักทายเรื่องนี้เสมอ กระทั่งวันหนึ่งจุดเปลี่ยนของผมก็เกิดขึ้น ผมรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองและอยากจะจบปัญหานี้เสียที ผมไม่อยากที่จะต้องคอยตอบคำถามแล้ว จึงเริ่มศึกษาวิธีการ และลงมือทำอย่างจริงจัง ผมใช้เวลาทั้งหมดในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง 8 เดือน ปรับเปลี่ยนวิธีการกิน และการออกกำลังกาย จนกระทั่งลงมาถึงจุดที่พอใจ ทุกวันนี้ ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้อีกเลยครับ ฮ่า ๆ ถือว่าประสบความสำเร็จ

ถ้าสังเกตดู จุดเปลี่ยนนี้จะสามารถเกิดขึ้นกับตัวเราเองได้บ่อยมาก ถ้าเราสามารถตัดอารมณ์ออกไป และมองไปที่เหตุผล เราจะสามารถใช้พลังนี้ในการพัฒนาตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

  1. จุดเปลี่ยนภายใน

จุดเปลี่ยนที่เกิดขึ้นได้ยากที่สุด แต่ถ้าทำได้จะเป็นสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุด เพราะมักจะเกิดจาก การที่เราฉุกคิดขึ้นมา และพยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชีวิตเราต้องการอะไร และชีวิตเราเป็นแบบไหน เมื่อคิดได้แล้วก็ต้องใช้แรงในการลงมือทำ และทำอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “วินัย” และ “ความกล้า”

จุดเปลี่ยนประเภทนี้ มีพลังน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับสองประเภทที่กล่าวมา เนื่องจาก ไม่มีแรงกดดัน หรือไม่มีแรงบังคับจากใคร มีเพียงอย่างเดียวก็คือ เสียงจากใจของเราเอง เข้าข่ายประมาณว่า “ไม่ทำอะไรก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

ตัวผมเองเคยพบกับจุดเปลี่ยนนี้ไม่บ่อยนัก ล่าสุดที่เกิดขึ้น คือ อยู่มาวันหนึ่ง ผมก็คิดขึ้นมาว่าผมอยากมีเงินเก็บ 1,000,0000 บาท ก่อนอายุ 28 ปี ซึ่งตอนคิดเป้าหมายนี้ ก็ยังทีเล่นทีจริงว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่หลังจากคิดไม่กี่วัน ผมก็เริ่มแผนการหาเงินครับ ตอนที่หาเงิน ผมใช้ทักษะการเขียนโปรแกรมเพื่อหาเงิน เริ่มเรียนรู้เรื่องการเก็บเงิน ออมเงิน การบริหารเวลา การสื่อสารกับลูกค้า ค่อย ๆ รับงาน และพัฒนาประสบการณ์มาเรื่อย ๆ

ตอนเริ่มต้นก็รู้สึกเฉย ๆ เพราะตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ดูไกลเหลือเกิน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากเดือน เป็นสองเดือน ตัวเลขในบัญชีค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ผมค่อย ๆ ประหยัดมากขึ้น ขยันทำงาน หางาน และรับงานใหม่ โฟกัสกับตัวเลขในบัญชี ความตื่นเต้นก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยิ่งนานวัน ยิ่งเห็นว่ามีโอกาสจะไปถึงเป้าหมายได้ และวันที่ตื่นเต้นที่สุดคือ เดือนสุดท้าย ผมยังจำความรู้สึกตื่นเต้นไม่มีลืม จนกระทั่งเลขบัญชีของผมมีตัวเลข 1,000,000 อยู่ในบรรทัดสุดท้าย ในวันที่ 28 ธันวาคม นั่นเอง

หลังจากที่ผมบรรลุเป้าหมาย ถามว่าชีวิตผมเปลี่ยนแปลงอะไรไหม คำตอบคือ เปลี่ยนครับ เพราะระหว่างทาง ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง และที่สำคัญคือ ผมรู้ว่าผมทำได้ครับ ฮ่า ๆ แต่ถ้าสมมติว่าผมทำไม่สำเร็จล่ะ จะเป็นยังไง คำตอบคือ ผมเองก็คงเลื่อนวันที่ออกไป อาจจะเป็นก่อนอายุ 29 ปี หรือ ก่อนอายุ 30 ปี และก็คงจะทำต่อไปจนสำเร็จ เพราะระยะเวลาที่ผมตั้งขึ้นมา มันก็เป็นแค่วันที่วันหนึ่ง ไม่ได้มีความพิเศษอะไรเลย

ดังนั้น ถ้าใครที่รู้สึกถึงจุดเปลี่ยนนี้แล้ว อย่าปล่อยให้มันเสียเปล่า ลุกขึ้นมาลองทำได้เลยครับ เพราะว่าถ้าเรารู้สึกถึงจุดเปลี่ยนนี้บ่อย ๆ เราจะสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเลยทีเดียว

สุดท้ายนี้

ชีวิตของเราคือการเดินทางไกล มีเรื่องมากมายเกิดขึ้น ถ้าเราอยากเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า พยายามสังเกต ปรับใช้พลังในด้านดีและด้านลบจากรอบตัว ให้กลายเป็นพลังผลักดันให้เราพัฒนาชีวิตของเราให้ดีขึ้น