เงินบำนาญกับข้าราชการเกษียณ

อาชีพสุดท้ายในชีวิตของทุก ๆ คนคือ “ผู้จัดการกองทุน”

คุณแม่ของผมเกษียณอายุราชการเมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วยอาชีพ ข้าราชการครูวัย 60 ปี มีอายุราชการรวม 42 ปี ช่วงหลัง ๆ ก่อนที่แม่ผมจะเกษียณ มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมคุยกับคุณแม่บ่อย ๆ ก็คือ เงินบําเหน็จ และเงินบำนาญ คุยถึงเรื่องนี้ทีไร ผมก็จะเอา Excel ขึ้นมากดเป็นกระดานชนวนตลอด เพราะมันทำให้ผมเห็นว่าคุณแม่ของผมจะมีเงินใช้ไปจนบั้นปลายของชีวิตเท่าไหร่

และตัวเลขสุดท้ายที่คุณแม่ของผมใช้เวลากว่า 42 ปีในการสร้างนั้น เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว (หลายหมื่นบาท) เพียงพอที่จะอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดได้อย่างสบาย

ผมเคยถามท่านว่า เกษียณแล้วจะทำอะไร เพราะผมเองยังมีคำถามว่า เราไม่ต้องทำงานได้ด้วยหรือ? คำตอบคือ คงไม่ทำอะไร อยู่บ้าน ปลูกผัก ไปเรื่อย ๆ อยากไปไหนก็ไป อยากตื่นนอนกี่โมงก็ได้ ได้ยินแบบนี้ผมนี่กระจ่างถึงคำว่าเกษียณมากขึ้นเลยทีเดียว

ชีวิตดูดีใช่ไหมล่ะ แต่อย่าลืมนะครับว่าท่าน “ใช้เวลาในการสร้างถึง 42 ปี ในระบบราชการ” เห็นอะไรไหมครับ มีองค์ประกอบอยู่ 2 อย่าง นั่นก็คือ “เวลา” และ “ระบบ”

เวลา คือสิ่งที่เราทุกคนมีเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่าเรารู้ตัวตั้งแต่ตอนไหน ในที่นี้ถ้าคุณแม่ของผมเกษียณตอนอายุ 60 ปี

60 - 42 = 18 ปัดเศษขึ้นเป็น 19 ปี

นั่นหมายความว่าท่านเริ่มใช้งานระบบนี้ตั้งแต่อายุ 19 ปี ลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่าตอนนี้เราอายุเท่าไหร่ ฮ่าๆ

ต่อมาเป็นเรื่องของ “ระบบ” รู้กันว่า ข้าราชการ นั้นเป็นอาชีพที่เงินเดือนน้อย เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ในช่วงอายุเดียวกัน คุณแม่ของผมท่านเริ่มต้นด้วยเงินเดือน 1,375 บาท ต่อเดือนเท่านั้น

ดังนั้นตลอดระยะเวลาตั้งแต่อายุ 19 ปี จนถึง 60 ปีนั้น ช่วงแรก ๆ ท่านคงไม่สามารถทำอะไรได้อิสระมากนัก เนื่องจากรายได้น้อย แต่ด้วย ระบบ ที่รัฐออกแบบมา เขามองที่ระยะยาว มากกว่าระยะสั้น เงินเดือนจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามเวลา และถ้าเราไม่ได้ทำผิดวินัย เราก็จะไม่ถูกให้ออกจากราชการนั่นเอง ดังนั้น ความมั่นคง จึงเป็นคำอธิบายอาชีพข้าราชการมาอย่างยาวนาน

ลองคิดเล่น ๆ สมมติว่าคุณแม่ของผม ท่านได้รับเงินบำนาญ ทั้งหมดเป็นเงิน 50,000 บาทต่อเดือน (ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขสมมติที่มีเค้าความจริง ถ้าใครมีคุณแม่ที่เกษียณแล้ว ลองถามท่านดูนะครับ ว่าท่านมีเงินบำนาญเดือนละเท่าไหร่)

อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 75 ปี

เนื่องจากคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 75 ปี ผมขอตีเผื่อไปเป็นตัวเลขกลม ๆ คือ 80 ปี จะได้ตามสูตรนี้

(อายุขัย - อายุเกษียณ) x เงินบำนาญ x 12 เดือน = เงินเก็บ

แทนค่าสูตร

(80 - 60) x 50,000 x 12 เดือน = 12,000,000 บาท

12,000,000 คือเงินที่รัฐจะต้องเก็บไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินบำนาญของคุณแม่ผม แต่เพราะว่าเงินจำนวนนี้มันมากเกินไป รัฐเลยสร้างระบบขึ้นมาเพื่อทำการเก็บเงินไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ คิดกลม ๆ คือ

(จำนวนเงินที่ต้องเก็บ / จำนวนปีที่เก็บ) = เงินเก็บต่อปี

เงินเก็บต่อปี / 12 = เงินเก็บต่อเดือน

ลองแทนค่าดูนะครับ

(12,000,000 / 42 (อายุราชการ)) = 285,714

285,714 / 12 = 23,809 บาท

รัฐจะต้องเก็บเงินต่อเดือนถึง 23,809 บาท เพื่อนำไปเลี้ยงดูข้าราชการเกษียณ 1 คน แต่ ระยะเวลา 42 ปีมันเป็นระยะเวลาที่นานดังนั้น รัฐจะต้องหาวิธีในการลงทุนต่าง ๆ เพื่อลดจำนวนเงินต้นที่ต้องเก็บลง ได้แก่พวกกองทุนต่าง ๆ ที่ตัดเงินอัตโนมัติก่อนจ่ายเงินเดือน ซึ่งเรามาดูกันว่าถ้าสมมติว่ารัฐสร้างระบบโดยการเอาเงินไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี

จะเห็นว่า แทนที่รัฐจะต้องเก็บ 23,809 บาทต่อเดือน หรือ 285,714 บาทต่อปี เหลือเพียงแค่ 7,050 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ว่าใช้เวลา 42 ปีเข้ามาแทน

แต่ก็อย่างว่า ชีวิตไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ในตารางนี้ไม่ได้คิดเรื่องของอัตราเงินเฟ้อไปด้วยเนื่องจากอยากให้เพื่อน ๆ เห็นภาพชัดเจน (คิดแค่อัตราดอกเบี้ยทบต้น) เพราะปกติค่าเงินเมื่อก่อนกับค่าเงินปัจจุบันไม่เท่ากันอยู่แล้ว เหมือนราคาก๋วยเตี๋ยวสมัยก่อนกับปัจจุบันราคาไม่เท่ากัน ดังนั้นข้อมูลนี้เป็นแค่ข้อมูลคร่าว ๆ เท่านั้น

ซึ่งที่เล่ามาข้างบนนี้ นั้นเป็นเรื่องของคุณแม่ของผมกับระบบที่รัฐ (สมมติ) สร้างขึ้นมา ซึ่งเอาจริง ๆ แล้ว ระบบของรัฐคงซับซ้อนกว่านี้เพราะประเทศเรามีคนเก่ง ๆ เยอะ ดังนั้น เรากลับมาที่เรื่องของเราบ้างดีกว่า

พวกเรากำลังอยู่ในวัยทำงาน และคนที่ผมรู้จักส่วนใหญ่ ก็ทำงานในบริษัทเอกชน ดั้งนั้นเรามาลองสำรวจกันดีกว่าว่า ตอนนี้เรามี เวลา มากแค่ไหน และเรามี ระบบ อะไรที่จะเราจะไปเข้าร่วมไดบ้าง

เรื่องเวลาคงไม่ต้องพูดเยอะ ลองนึกถึงอายุของเพื่อน ๆ หักลบกับอายุที่คาดว่าจะเลิกทำงาน ก็รู้แล้วว่าเราเหลือเวลาเท่าไหร่ ฉะนั้นมาโฟกัสที่เรื่อง ระบบ กันดีกว่าครับ

ภาคเอกชนอย่างเรา ก็มีระบบมากมายให้เราเข้าร่วม มีทั้งภาคสมัครใจ และภาคบังคับ โดยภาคบังคับ เงินที่เอาไปใส่ในระบบจะถูกหักจากรายได้ของเรา ในแต่ละเดือนอยู่แล้ว ซึ่งแนวคิดก็จะเป็นเหมือนกับของราชการคือหักก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง และเท่าที่ผมคิดออกและใกล้ตัวเพื่อน ๆ ที่สุดก็น่าจะเป็น กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (PVD)

หรือว่าจะเป็นภาคสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF กองทุนเปิดอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่มาก มีระดับผลตอบแทนหลากหลายเช่นกัน

แต่ส่วนมาก อนาคตของเราอาจจะไม่สามารถฝากไว้กับแค่ระบบเดียวได้หรอกครับ เพราะยิ่งระบบใหญ่แค่ไหน มันก็จะถูกออกแบบมาให้เข้ากับคนจำนวนมากขึ้น อีกทั้งคนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น การศึกษาเรื่องการเงินจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะ ถ้าเราคำนวณแล้ว ระบบที่เราใช้งานมันไม่เพียงพอที่จะถึงเป้าหมายเราได้ เราก็ต้องศึกษาและผสมผสานสร้างมันขึ้นมา

ถึงตรงนี้ลองถามตัวเองดูครับว่า Life Style ที่เราอยากได้ในอนาคตเป็นแบบไหน และนำคำตอบนั้นมาสร้างระบบด้วยตัวเอง อาจจะเป็นระบบที่เรียบง่าย อย่างเช่นตัดเงินทุกเดือนลงกองทุนเป็นประจำ หรือเป็นระบบที่หวือหวา เช่นลงทุนทำธุรกิจ หรือจะใช้ทางเลือกอื่น ๆ ก็แล้วแต่เรา เพราะแต่ละคนมีความสามารถ ความถนัด และเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน

สุดท้ายนี้

เรื่องราวของคุณแม่ของผมเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของแผนการเงินในชีวิต แต่สำคัญที่สุดคือแผนของตัวเราเอง ระยะทาง 30 ปีเป็นระยะที่อาจจะบอกไม่ถูกว่ามันยาวหรือว่าสั้น แต่ที่แน่ ๆ คือ เวลา ไม่ไหลย้อนกลับ

อยากให้เพื่อน ๆ คิดถึงเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากไว้ก็คือ ถ้าเพื่อน ๆ คิดจะเสี่ยงก็ต้องมีช่องทางการถอยบ้างนะครับ อาจจะแบ่งเป็นทางธรรมดาที่ชัวร์ และทางมหัศจรรย์โคตรเสี่ยง แล้วเดินไปพร้อม ๆ กันก็ได้ จงจำไว้ครับว่า

อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว เพราะถ้ามันแตก มันจะแตกหมด

ขอบคุณที่อ่านจนถึงบรรทัดนี้ ขอบคุณมาก ๆ ครับ

Published by

Smith Krengkrud

Happiness begins with small things.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s