ออฟฟิสซินโดรม กลุ่มโรคของชาวออฟฟิสที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการ “นั่ง” ทำงาน
*ไม่อยากอ่านเรื่องเล่าอยากดูสรุป ข้ามไปส่วนท้ายได้เลยนะครับ 😀
ในวันแรงงาน 1 พฤษภาคม 2019 เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันสำหรับผมมันเกิดขึ้น หลังจากที่ผมนั่งอยู่ที่เก้าอี้ที่คอนโด และกำลังลุกขึ้นยืนเพื่อจะเดินทางไปออฟฟิศ ตอนที่ยืนขึ้นตามปกตินั่นแหละ ความรู้สึกปวดเหมือนเป็นตระคริว เริ่มตั้งแต่สะโพก ร้าวไปที่ปลายเท้าขวา และอาการชาที่หัวแม่เท้าก็กำเริบ ตอนนั้นแทบจะล้มทั้งยืนเพราะปวดมาก ค่อย ๆ เดินกะเผลก ๆ ไปที่เตียงนอนอย่างทุลักทุเล
ผมนอนที่เตียงอยู่พักหนึ่ง พบว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นไม่ดีขึ้น แถมเวลาขยับตัวยิ่งปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนั้นเองที่เพื่อนผมโทรมาพอดี คุยกันถึงอาการสักพักเลยตัดสินใจไปที่คลินิกกายภาพใกล้บ้าน (ยังไม่ตัดสินใจไป รพ)
เนื่องจากผมพักอยู่คอนโดชั้น 6 กว่าจะขยับตัวแต่ละก้าว เพื่อเดินออกไปขึ้นลิฟต์ (ระยะไม่กี่เมตร) ผมต้องหยุดพักหลายครั้ง เพราะมันรู้สึกปวดมาก
หลังจากที่ไปถึง คลินิกกายภาพ นักกายภาพก็ทำการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น เริ่มต้นโดยการสอบถามอาการเบื้องต้น ให้นอนหงายลองเหยียดขา ทางนักกายภาพจะค่อย ๆ ยกเท้าเราขึ้น ซึ่งผมยกได้ไม่ถึง 30 อาศาก็จะปวดมาก จากนั้นก็ให้เปลี่ยนเป็นนอนคว่ำ ให้นักกายภาพกดไล่ตามกระดูกสันหลังจากเอวจนถึงก้น เค้าไล่ไปทีละจุดแล้วคอย ถามว่ารู้สึกยังไง ซึ่งผมไม่ได้รู้สึกเจ็บมากขึ้น จากนั้นก็ให้นอนตะแคงซ้าย งอขาขวาข้างที่เจ็บให้เกือบตั้งจาก จากนั้นค่อย ๆ กดไล่ไปตามเส้นกล้ามเนื้อ จนกระทั่งพบจุดที่กดแล้วปวด
สรุปเบื้องต้นเค้าบอกว่า อาการเรื่องหมอนรองกระดูกไม่ชัดเจน เพราะกดหลังแล้วไม่มีอาการปวดเพิ่ม แต่สะโพกมีอาการมากกว่า จึงมีการสรุปว่าอาจจะมีการกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท
การรักษาครั้งแรก คือการทำอัลตราซาวด์ การประคบร้อน และการเลเซอร์ ซึ่งหลังจากทำเสร็จแล้ว อาการที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้ดีขึ้นเลยสักนิด ทางนักกายภาพบอกว่าจะต้องใช้เวลารักษาประมาณ 1 – 3 เดือน พร้อมกับจัดการนัดครั้งถัดไป
เวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ อาการนี้ยังไม่บรรเทาสักเท่าไหร่ แต่ยังพอจะช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ยังอาบน้ำ เข้าห้องน้ำได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องใช้เวลาเยอะหน่อย ช่วงที่ดูจะเลวร้ายที่สุดก็คือช่วงนอน ผมไม่สามารถนอนหงายได้ เลยต้องนอนตะแคงไม่ก็ต้องหาหมอนใบใหญ่ๆ มารองช่วงหัวเข่า เนื่องจากผมจะปวดมากเมื่อเรายืนตัวตรง เวลายืนเลยต้องก้มหลังเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ปวดเกินไป
จนในที่สุด แฟนของผมก็ทนไม่ไหว เลยบังคับผมไปที่ รพ ผมเลยหาข้อมูลว่ามี รพ ไหนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้แล้วก็สามารถตรวจวินิจฉัยได้ภายในวันเดียว สรุปว่าได้ไป รพ เอกชน เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังแห่งหนึ่ง
วันนั้นแฟนผมเป็นคนขับรถไปส่ง พอไปตรวจ หมอให้นอนบนเตียงครับ นอนหงาย แล้วยกขาเราขึ้น อาการเดิมครับ ยกได้ไม่ถึง 30 องศาปวดมาก หมอเลยเดินมากดที่สะโพก ทีเดียวรู้เลยครับ ปวดจี๊ด หมอเลยจัดการส่งไปตรวจที่เครื่อง MRI เพื่อจะได้รู้ไปเลยว่าเป็นอะไร

คำวินิจฉัยคือ ผมเป็นหมอนรองกระดูกปลิ้นทับเส้นประสาท L4-L5 ทำให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา วิธีการรักษาที่เร็วที่สุดคือการผ่าตัด ซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3xx,xxx บาท ส่วนถ้าจะรักษาด้วยการกายภาพบำบัด ก็ไม่อาจบอกได้ว่าจะใช้เวลาในการรักษานานแค่ไหน
สรุปว่า จ่ายค่า รพ ไปประมาณ 13,000 บาท แล้วก็กลับจาก รพ ด้วยความมึน ๆ เล็กน้อย เพราะรู้ชัดเจนแล้วว่า โรคที่เป็นนั้นคืออะไรแน่ ๆ วิธีการรักษาเป็นอย่างไร ราคาเท่าไหร่ (ค่าผ่าตัด รพ อื่น ๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 150,000 – 300,000 บาท) เลยตัดสินใจบอก คุณพ่อ คุณแม่ พี่สาว เพื่อน
งานนี้รู้เลยว่าทุก ๆ คนเป็นห่วงเราแค่ไหน ใจจริงในฐานะที่เป็นคนป่วย ผมอยากผ่าตัดให้มันจบไป จะได้หายและกลับไปเป็นปกติ แต่ว่าทั้งญาติ คุณพ่อคุณแม่ของผม และคุณแม่แฟนของผม ได้ช่วยกันหาข้อมูล และทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากให้ผ่าตัด เพราะการผ่าตัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายเนื่องจากมีความเสี่ยง ดังนั้นอยากจะให้ลองทำกายภาพบำบัดเสียก่อน
คุณแม่ของผมอยากให้กลับไปตรวจที่บ้าน เพื่อความสบายใจ ผมเลยนั่งเครื่องบินกลับไปที่บ้าน (จ.ลำปาง) ณ ตอนนั้นคือพอเดินได้ แต่ว่าต้องพักเป็นระยะ เพราะว่าเราจะรู้สึกเจ็บสะสมไปเรื่อย ๆ ตอนขยับตัว
เมื่อไปตรวจที่ รพ.ลำปาง ตอนคลินิกนอกเวลา ผมก็เอาข้อมูล MRI ให้หมอดู การตรวจก็เหมือนกันครับคือยกขา กดหาจุดปวด แล้ววินิจฉัย ซึ่งหมอบอกว่า ถ้าอยากหายเร็ว และไม่ติดปัญหาเรื่องเงิน จะผ่าตัดเลยก็ได้ รักษาตัวไม่นาน แต่ว่าต้องไปผ่าที่ใน กทม. เพราะที่นี่ไม่มีอุปกรณ์ แต่ว่าถ้าไม่ผ่าตัด ก็ให้กินยาแก้ปวด และเข้าไปทำกายภาพ ซึ่งระยะเวลาหมอบอกไม่ได้ เบื้องต้นหมอจะให้ยาแก้ปวดไปกินก่อน
เคว้งครับตอนนั้น หมอสองคนบอกให้ผ่าตัด ซึ่งใจผมเอนเอียงเรียบร้อยแล้วครับ เริ่มจะยอมรับ แต่ว่าคุณพ่อ คุณแม่ แล้วก็คุณแม่แฟน บอกว่า ขอให้ลองกายภาพดูก่อน ถ้ามันไม่ดีขึ้นจริง ๆ ค่อยตัดสินใจต่อไป
แฟนของผมปรึกษาพี่ ๆ ที่ทำงานของเค้า ได้รายชื่อมาหลายที่ ผมเลยตัดสินใจไปที่ ศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศาลายา ครับ

ผมตั้งเวลาไว้ว่า ถ้าผ่านไปแล้ว 3 เดือนไม่มีอะไรดีขึ้น ผมจะตัดสินใจผ่าตัดเพื่อรักษาโรคนี้ ซึ่งที่นี่ก็เป็นที่ ๆ ทุกอย่างค่อย ๆ ดีขึ้นครับ
ผมทำกายภาพบำบัด สัปดาห์ละ 3 วันในช่วง 2 สัปดาห์แรก ซึ่งร่างกายของผมก็ค่อย ๆ ดีขึ้น และลดลงเป็นสัปดาห์ละ 2 วันในช่วงเดือนต่อมา จากนั้นก็นัดน้อยลงเป็นสัปดาห์ละ 1 วัน ทั้งหมดใช้เวลาในการรักษา 4 เดือน จึงเริ่มรู้สึกเป็นปกติ 85%
นักกายภาพวินิจฉัยว่า ผมเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่ว่าสาเหตุที่เค้ากดที่หลังแล้วร่างกายไม่ตอบสนองเท่าไหร่ เพราะเป็นไปได้ว่าโพรงประสาทของผมอาจจะมีขนาดใหญ่ ซึ่งตอนที่เส้นประสาทถูกกดทับครั้งแรกนั้นทำให้เส้นประสาทของผมเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดการปวดฉับพลันขึ้นมา ระหว่างนี้หมอนรองกระดูกอาจจะหดเข้าไป หรือไม่ก็เคลื่อนไปอยู่ตรงจุดที่ไม่กดทับแล้ว แต่การที่เส้นประสาทอักเสบ ร่างกายจะรักษาโดยการสร้างพังผืดขึ้นมาซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ทำให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นไม่ยืดหยุ่น เวลาเราเหยียดยืดร่างกาย มันจะรั้งเส้นประสาท ทำให้รู้สึกเจ็บปวด
การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ได้แก่ การประคบร้อน การทำอัลตราซาวด์กล้ามเนื้อที่ปวด การกดกระดูกสันหลัง การยืดเส้นประสาทขาด้านหลัง และการดึงยืดกระดูกสันหลัง ค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งประมาณ 500 – 800 บาท
สรุปอาการ
อาการเฉพาะของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็คือ ความรู้สึกปวดที่หลังต่ำลงไปตรงสะโพก แล้วมีการปวดร้าวไปตามเส้นประสาทที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง (ซ้าย หรือขวา) เมื่อเบ่ง หรือมีการเกร็งหลังจะรู้สึกปวดหน่วง ๆ ที่บริเวณสะโพกร้าวไปยังขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือเวลาที่เราเตะขา หรือยกขาขึ้นจะรู้สึกตึงและปวดร้าวจากสะโพกไปยังปลายเท้า
ถ้ามีอาการเหล่านี้ วิเคราะห์ขั้นต้นได้เลยว่าเรามีอาการหมอนรองกระดูกปลิ้น ให้ไปพบหมอที่ รพ เพื่อรับการแสกน MRI เพราะว่ายิ่งเรารู้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะทรมานน้อยลง
ก่อนหน้าที่ผมจะมีอาการกำเริบ ผมรู้สึกปวดที่ก้นร้าวลงขาข้างเดียวมาประมาณ 2 ปี โดยที่ไม่ได้คิดมาก่อนว่าเราจะเป็นโรคนี้ ดังนั้นสัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณอันตรายครับ
รวมเวลาทั้งหมดในการรักษา ตั้งแต่เป็น จนถึงอาการดีขึ้น 95% คือ 6 เดือน เดือนธันวาคมเป็นเดือนแรกที่สามารถกลับมาออกกำลังกายได้อีกครั้ง อาการชาที่ปลายเท้าหายไป
สรุปการรักษา
มีการรักษา 2 แบบ ได้แก่
- การกายภาพบำบัด (สำหรับคนที่ป่วยขั้นแรกผมแนะนำให้ทำวิธีนี้)
ข้อดี
– ค่าใช้จ่ายไม่สูง ครั้งละ 500 – 1,000 บาท (รวมทั้งหมด ไม่เกิน 10,000 บาท)
– ไม่มีความเสี่ยงเหมือนการผ่าตัด
ข้อเสีย
– ใช้เวลาในการรักษานาน ประมาณ 2 – 3 เดือนเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ 6 เดือน เพื่อให้ดีขึ้น 90%
– ต้องมีวินัย
– ถ้ารักษาไม่หายจะต้องใช้วิธีผ่าตัด - การผ่าตัด การผ่าตัดมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับงบประมาณและค่าใช้จ่ายในการรักษา มีตั้งแต่ การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดแบบส่องกล้อง และการผ่าตัดแบบส่องกล้องเล็ก ซึ่งค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 50,000 – 300,000 บาท ยิ่งเทคโนโลยีสูง ก็จะบาดเจ็บน้อย ระยะพักฟื้นสั้น
ข้อดี
– ใช้เวลารักษาสั้นกว่า (เร็วที่สุดคือ ผ่าตัด 1 วัน พักฟื้น 1 เดือน)
– หายชัวร์
ข้อเสีย
– ราคาแพง (มาก)
– มีความเสี่ยงอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากการผ่าตัด
การเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ผมมีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ ซึ่งปกติจะนั่งทำงาน เป็นเวลานาน ชอบเล่นเกมประเภทจำลองสถานการณ์ซึ่งใช้เวลาในการเล่นค่อนข้างนาน สาเหตุของโรคนี้มีอยู่ไม่กี่อย่าง คือ
- อุบัติเหตุ
- การยกของหนัก
- การนั่งนาน ๆ
ดังนั้นเพื่อป้องกันการเป็นโรคนี้ซ้ำอีกครั้ง จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมคือ จะต้องลุกเพื่อเปลี่ยนท่าทาง และยืดเส้นยืดสายทุก ๆ 1 ชั่วโมง ยิ่งทำบ่อย ๆ ยิ่งดี และถ้าเรารู้สึกเมื่อยหรือปวด ให้เราหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ทันที ห้ามฝืน ห้ามติดลม เพราะว่าถ้าป่วยแล้ว ใช้เวลาในการรักษานานมาก
สุดท้าย
จากประสบการณ์ครั้งนี้ ผมได้เรียนรู้ข้อคิดมากมาย ทุกข้อล้วนมีค่า อยากจะแชร์ให้ทุกคนผู้เป็นที่รักได้รับรู้
- อาการป่วยเกือบทั้งหมดมีสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมของเราเอง ยิ่งเราลงทุนทำร้ายร่างกายเรานานแค่ไหน ความรุนแรงก็จะมากขั้นเท่านั้น
- ร่างกายของเราไม่ใช่ของเรา เมื่อมันพัง มันจะพังชีวิตคนอื่นด้วย ดังนั้นจงดูแลตัวเองเพื่อคนที่คุณรัก
- จงเรียนรู้ที่จะรอคอย ไม่มีความสำเร็จใดเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น
- จงเตรียมการเผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันในชีวิตที่จะไม่เกิดขึ้น
- การเดินทางจะไม่ไกล ถ้าเรามองข้างทางและสนุกไปกับมัน
- อย่าปฏิเสธความห่วงใยจากคนรอบข้าง
- สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ พ่อผมบอกว่า “ถ้าเจ็บแทนได้ อยากจะเจ็บแทน”
- ผมต้องไม่ป่วยอีก
ปล. ขอขอบคุณ ตาล คุณพ่อ คุณแม่ คุณแม่โอม น้าน้อย พี่แอม พี่กบ ไทร โอ๊ต น้องออม มะปราง ค่าว และเพื่อน ๆ ทุกคนที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ ที่คอยให้ข้อมูลการรักษา กำลังใจ อยู่ตลอดครับ ขอบคุณมากจริงๆ